ความเป็นมาและการจัดตั้งมูลนิธิ พัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จนิวัตประเทศไทยภายหลังทรงสำเร็จการศึกษานั้น การแพทย์ของไทยยังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ ทั้งพสกนิกรที่อยู่ห่างไกลความเจริญยังไม่ได้รับบริการด้านสาธารณสุขอย่างดีพอ พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอดมาคือการทำนุบำรุงการแพทย์และการสาธารณสุขให้มีความก้าวหน้าและมีศักยภาพพอสำหรับจะให้บริการแก่พสกนิกรชาวไทยได้อย่างเท่าเทียมกัน ที่ส่งผลให้การพัฒนาประเทศสำเร็จได้โดยง่าย โดยพระองค์ทรงเจริญรอยตามแบบอย่างของสมเด็จพระราชบิดา คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ซึ่งทรงเป็นพระราชบิดาแห่งการแพทย์และการสาธารณสุขไทย
พ.ศ. ๒๔๙๓ ผู้คนในยุคนั้นกำลังประสบปัญหาจากวัณโรคที่ร้ายแรง พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อสร้างอาคารมหิดลวงศานุสรณ์สำหรับใช้ในกิจการทางด้านวิทยาศาสตร์และผลิตวัคซีน บี.ซี.จี. ขึ้นใช้เองแทนการสั่งซื้จากต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๔๙๕ เกิดโรคไข้สันหลังอักเสบ (โปลิโอ) ระบาดอย่างรุนแรง ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีจะมีอันตรายถึงชีวิตได้ และถึงแม้พ้นขีดอันตรายก็มักเป็นอัมพาตที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟู พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนประเดิมสำหรับจัดตั้งทุน “โปลิโอ สงเคราะห์” ขึ้น พระราชทานแก่ รพ.พระมงกุฎเกล้า และมหาวิทยาลัยมหิดล (รพ.ศิริราช) เพื่อนำไปสร้างตึกและจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องเวชภัณฑ์สำหรับใช้ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาต
พ.ศ. ๒๕๐๑ เกิดอหิวาตกโรคระบาดอย่างรุนแรง พระองค์ได้พระราชทานทุนประเดิมก่อตั้งทุนปราบอหิวาตกโรค โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ให้แก่สภากาชาดไทยเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับผลิตวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ได้ปริมาณมากขึ้นกว่าที่เคยผลิตได้หลายเท่าตัว รวมถึงพระราชทานเครื่องผลิตน้ำกลั่นแก่โรงงานเภสัชกรรมและสถาบันพยาธิวิทยา กรมแพทย์ทหารบก โดยเฉพาะสถาบันพยาธิวิทยาที่ได้รับพระราชทานเงินจัดซื้อเครื่องมือขนาดใหญ่สำหรับทำการวิจัยอหิวาตกโรคด้วย
น้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มิได้จำกัดอยู่แค่การเจ็บไข้ของคนไทยเท่านั้น แม้แต่สัตว์ที่เจ็บป่วยก็ทรงเผื่อแผ่ไปถึง พระองค์ได้พระราชทานเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อคุณทองแดงให้แก่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินโครงการตามพระราชกระแสหลายโครงการด้วยกัน อาทิ โครงการตรวจหาเครื่องหมายดีเอ็นเอของสุนัขสายพันธุ์ไทย โครงการเฝ้าระวังและการพัฒนาวินิจฉัยโรคฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส โครงการระวังโรคระบาดในสัตว์ปีก โครงการพัฒนาน้ำเชื้อแช่แข็งสุนัข โครงการเครื่องมือแพทย์ โครงการพระราชทานคุณทองแดงช่วยเพื่อน
และโครงการกองทุนรักษาสัตว์ป่วยอนาถา เป็นต้น รวมถึงมีการสร้างสระว่ายน้ำ “สุวรรณชาด” สำหรับบำบัดรักษาสุนัขที่ป่วยด้วยโรคข้อกระดูกและระบบประสาทแบบธาราบำบัด โดยพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการ “สระสุวรรณชาด” เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
นอกจากนี้ยังมีกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ที่ว่า “เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” ได้ก่อให้เกิดโครงการฟันเทียมพระราชทาน โดยสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ให้บริการทำฟันเทียมแก่ผู้สูงอายุ จำนวนกว่า ๑๐,๐๐๐ ราย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ จากการสำรวจพบว่าผู้สูงอายุบางรายที่ใส่ฟันเทียมทั้งปากมีปัญหาฟันเทียมชิ้นล่างหลุดหลวมง่ายเนื่องจากบริเวณสันกระดูกขากรรไกรมีการละลายยุบตัวลง เมื่อเคี้ยวอาหารหรือพูดฟันเทียมจะหลุดได้ง่าย ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการใส่รากฟันเทียม จำนวน ๒ ราก ที่บริเวณสันกระดูกขากรรไกรล่าง ซึ่งทำได้ไม่ยากและมี ความเสี่ยงน้อยเหมาะสำหรับทำในผู้สูงอายุ นอกจากนี้การฝังรากฟันเทียมยังช่วยชะลอหรือทำให้การละลายตัวของกระดูกลดลง ฉะนั้นเมื่อฟันเทียมไม่ขยับไปมาประสิทธิภาพการเคี้ยวอาหารก็จะดีขึ้น ผู้ป่วยก็ไม่ต้องกังวลว่าจะหลวมหลุดขณะพูดหรือเคี้ยวอาหาร ทั้งนี้ การฝังรากฟันเทียมเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ผู้ป่วยที่ มีความ จำเป็นต้องได้รับการรักษาแต่ยากจนล้วนสูญเสียโอกาสในการเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสแก่คณะทันตแพทย์ที่ถวายการรักษารากฟันเทียมว่า “สามสิบบาท รักษาได้หรือไม่”คณะทันตแพทย์ที่ถวายการรักษาจึงได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่านมาเป็นแนวทางในการพัฒนา “รากฟันเทียม” ที่ได้มาตรฐานสากลขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และรากฟันเทียมที่พัฒนาขึ้นได้นำมาใช้ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ ๒ โครงการ คือ โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระทัยและทรงติดตามความก้าวหน้าในการผลิตและการใช้รากฟันเทียมมาโดยตลอด และได้พระราชทานชื่อรากฟันเทียมที่ใช้ใน โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้ว่า “ฟันยิ้ม” ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อรากฟันเทียมดังกล่าวว่า “ข้าวอร่อย” พระองค์ทรงชื่นชมและพอพระทัยที่ประเทศไทยสามารถผลิตวัสดุอุปกรณ์ขึ้นใช้เองภายในประเทศตามที่พระองค์ทรงสอนและ ทรงแนะนำทันตแพทย์เสมอ ให้รู้จักพึ่งพาตนเอง อย่าสนใจแต่การรักษาเพียงอย่างเดียว ต้องสนใจการศึกษาวิจัย ประดิษฐ์วัสดุอุปกรณ์ขึ้นใช้เอง ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดังพระราชกระแสรับสั่งว่า “ให้ทำงานวิจัย ค้นคว้า พัฒนาวัสดุฝังในทางการแพทย์สำหรับใช้ในมนุษย์ และให้ทำวิจัยสำหรับใช้ในสัตว์ให้มาก ซึ่งท้ายที่สุดก็จะ เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์”
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น มูลนิธิพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทย จึงจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการศึกษา วิจัย ค้นคว้า พัฒนา และผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากล รวมถึงส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่เทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ที่เกิดจากการพัฒนาสู่บุคลากรทางการแพทย์ นำไปสู่การใช้งานในภาคบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือแพทย์ไทยภายในประเทศตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างเหมาะสม ทำให้มีเงินตราหมุนเวียนภายในประเทศ และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทางด้านการแพทย์ต่อพสกนิกรชาวไทย